ม.112 กฎหมาย ที่มากกว่ากฎหมาย
บทความนี้เป็นบทความที่ค่อนข้างเสี่ยงทีเดียวในการเขียน เพราะฉะนั้นต้องพยายามเขียนให้รอดปลอดภัยให้ดี ฮ่าๆๆๆ
จั่วหัวบทความไว้ว่า "ม.112 กฎหมาย ที่มากกว่ากฎหมาย" ที่เขียนแบบนี้ก็อาจจะไม่ผิดสักเท่าไหร่ เพราะมันเหมือนข้อบังคับซะมากกว่า ว่าห้ามติเตียน ห้ามดูหมิ่น เกี่ยวกับ ... โดยเด็ดขาด มิเช่นนั้น ใครก็ได้ ย่อมมีสิทธิจะฟ้องร้องคนๆนั้นความผิดตามมาตรา 112 ได้เลย
เรียกได้ว่า เป็น"กฎแห่งเทพเหนือเทพ"เลยทีเดียวก็ว่าได้ครับ เพราะเทพบางองค์ หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าก็ยังไม่มีกฎข้อไหนที่ทำร้ายผู้ที่ติเตียน หรือดูหมิ่นพระองค์ได้ขนาดนี้
ด้วยความรุนแรงของบทลงโทษที่ใครก็มองว่า เฮ้ย มันเวอร์วังอลังการเกิ๊นนนน และที่สำคัญคือ ใครจะฟ้องร้องใครก็ได้ นี่แหละคือ ตัวปัญหาที่แท้จริงของ ม.112 นี้
ตัวผมเองเพิ่งรู้จัก ม.112 ได้ไม่นาน ก็เลยไปค้นหาข้อมูลจากกูเกิลดูก็พบว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนี่ย มันเกินความจำเป็นไปมากจริงๆครับ เพราะถ้าพูดกันตามตรงแล้ว กฎหมายดูหมิ่นควรจะให้ผู้ที่ถูกดูหมิ่นเป็นผู้ฟ้องร้องถึงจะถูกครับ ทำเช่นเดียวกับประชาชนทั่วๆไปก็ได้ ไม่ใช่ว่าเปิดช่องให้ใครก็ได้ สามารถฟ้องร้องได้ มันก็เลยเหมือนกฎหมายที่ค่อนข้างจะเปิดกว้างเกินไป
หรือถ้าจะบีบให้แคบลงสักหน่อยก็ได้ เช่นว่า ผู้ที่จะฟ้องร้อง ม.112 ควรเป็นคนในสถาบันก็ได้ ไม่ใช่ว่า คนขายหมูปิ้ง จะฟ้องร้อง นายทหารว่า ผิด ม.112 นะ จับโลดเลยงี้ มันก็จะแปลกๆไปนะ ดีไม่ดี คนที่โดนดูหมิ่นยังไม่รู้เรื่องเลยด้วยซ้ำ ว่าโดนดูหมิ่น จริงมั้ยครับ
คนโดนดูหมิ่นควรรู้ตัวว่า โดนดูหมิ่นนะ แล้วถ้าเขาไม่พอใจ ก็ฟ้องร้องเอง หรือให้คนในสถาบันฟ้องร้องให้หน่อย แบบนี้สิ ค่อยดูสมเหตุสมผลหน่อย หรือถ้าเขาเฉยๆ ไม่เห็นว่าโดนดูหมิ่นเลย เขาก็เลือกที่จะไม่ฟ้องร้องก็ได้ ก็จบๆกันไป
ผมอ่านเกี่ยวกับ ม.112 แล้ว ผมนึกถึงเรื่อง "พ่อแม่รังแกฉัน" ขึ้นมาเลยครับ เพราะพ่อแม่เอาแต่ชื่นชมลูกตลอดเวลา ไม่เคยด่าลูก ถึงลูกจะทำผิดก็แก้ให้เป็นถูกได้ซะอย่างงั้น
เหมือนกับที่คนไทย พยายามเอาแต่ชื่นชม ... นั่นแหละครับ ติเตียนก็ไม่ได้ พูดถึงในด้านที่มันไม่ดีก็ไม่ได้ เน้นย้ำว่าต้องชื่นชมนะ ต้องสรรเสริญ ต้องทำอะไรก็ได้ ที่ทำให้ ... ดูดีอยู่ตลอดเวลา อะไรที่มันผิดๆ ก็ปล่อยผ่าน ปล่อยเบลอไป หรือถ้ามันผิดมากนัก ก็หาข้อแก้ต่างให้ซะเลย จากดำกลายเป็นขาวซะ จบนะ!!! มันเลยเหมือนว่า ประชาชนรังแกสถาบันอยู่รึเปล่าล่ะครับ
การติเตียน การกล่าวหาในทางไม่ดี การดูหมิ่น เอาจริงๆมันก็ไม่ดีหรอก เพราะคนโดนพูดถึง มันจะเสียหาย แต่ในความไม่ดีนั้น หากมันมีความจริงอยู่ มันก็ทำให้คนที่โดนพูดถึง รู้ตัวถึงข้อเสียของตนไม่ใช่เหรอครับ แล้วหากว่าคนที่โดนพูดถึง ไม่พอใจ ก็ให้เขาฟ้องร้องเองสิครับ (วนกลับมาอีกละ ฮ่าๆๆ)
ขอพูดถึงความไม่อินกับสถาบันของเด็กยุคใหม่กันสักหน่อยนะครับ ว่าทำไมพวกเขาถึงไม่อิน ไม่รักสถาบัน ไม่ชื่นชม แถมยังทำร้ายสถาบันอีกต่างหาก
ตัวผมเองเป็นคนยุค 90 ที่เติบโตมากับข่าวในพระราชสำนักตอน 20.00 ที่ทางทีวีเปิดให้ชมทุกวัน ทุกช่อง ซึ่งยอมรับเลยว่า ข่าวนี้มาทีไร ปิดทุกที ฮ่าๆๆๆ (นั่นไง มองว่าผมไม่รักสถาบันแล้วล่ะสิ ใช่มั้ยล่ะ)
นี่ผมแค่ยุค 90 นะ ลองนึกย้อนกลับไปอีกสิ ยุค 80, 70 หรือลึกไปถึง 60 ก็ได้เอ้า คนเหล่านั้นจะได้รับข่าวสารของสถาบันทางไหนบ้างล่ะครับ ถ้าไม่ใช่ทางหน้าหนังสือพิมพ์ ทางวิทยุ หรือทางทีวี ซึ่งก็แน่นอนว่า มีแต่เรื่องดีๆของสถาบันแน่นอน คนเหล่านั้นถึงรัก และเทิดทูนสถาบันดั่งเทพพระเจ้า ใครก็ห้ามแตะต้องเด็ดขาด
ย้อนมาที่ยุค 90 อย่างผม บางคนก็ยังอินกับสถาบัน แต่บางคนก็ไม่อินกับสถาบันแล้วล่ะครับ เพราะว่าปลายๆราชการของท่าน ผมก็แทบไม่ได้เห็นท่านทรงงานแล้ว เพราะท่านอายุมากแล้ว และทรงประชวรต้องรักษาพระวรกาย แน่นอนว่าสิ่งที่ยังเห็นของท่านคือ ผลงานเก่าๆนั่นเอง
มาถึงยุคใหม่ ของเด็กรุ่นใหม่ เมื่อท่านทรงสวรรคตไปแล้ว เราก็มีท่านพระองค์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งแน่นอนว่า เด็กยุคใหม่ ไม่อินแน่นอน เพราะผลงานไม่มี แถมยังมีโลกอินเตอร์เน็ตที่กว้างมากๆ มากพอที่จะขุดเรื่องที่ไม่ดีของท่านขึ้นมายำเละเทะ จนเด็กยุคใหม่รู้สึกว่า คนแบบนี้เหรอ ที่ควรเคารพ คำตอบก็คือ ไม่ล่ะ ไม่เอา
แล้วยิ่งมาเจอข่าวของ ม.112 ที่สามารถทำร้ายใครก็ได้ที่ดูหมิ่นสถาบันเข้าไปอีก เด็กยุคใหม่ก็ยิ่งไม่ชอบสถาบันขึ้นไปอีก ทั้งๆที่ สถาบันอาจจะไม่รู้เรื่องเลยก็ได้ว่า มีคนโดนคดี ม.112 เป็นว่าเล่น
เพราะฉะนั้นแล้ว การที่เด็กยุคใหม่ไม่อิน ไม่ชอบ ไม่เอา ก็ไม่แปลกล่ะครับ เพราะลืมตามาดูโลก ก็เจอแต่เรื่องแย่ๆของสถาบันนั่นเอง แล้วยิ่งมาเจอคนยุคเก่าที่รักสถาบันสุดหัวใจ ใครเห็นต่างไม่ได้ ต้องรักนะ ต้องปกป้องนะ เด็กๆมันก็ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ รักทำไม ปกป้องทำไม ทำแล้วได้อะไรกลับมาเหรอ คุณจะตอบคำถามเด็กยุคใหม่เหล่านั้นว่ายังไงล่ะครับ
คนเราถ้าจะรัก จะปกป้องใครสักคน เราต้องได้รู้ ได้เห็นผลงานของคนๆนั้นก่อน แล้วเกิดความชื่นชอบ ชื่นชมก่อน จริงมั้ยครับ ยกตัวอย่างเช่น เราได้รู้จักศิลปินเกาหลีสักคน เขาร้องเพลงเพราะ เขาแสดงเก่ง เขาหน้าตาดี แล้วเราชื่นชอบ ชื่นชม เราก็พร้อมที่จะรัก และปกป้องใช่มั้ยล่ะครับ
เช่นเดียวกับสถาบันนี่แหละครับ ถ้าเด็กไม่เห็นผลงานอะไร เขาก็ไม่รักหรอกครับ แต่ถ้าวันข้างหน้าสถาบันทำให้เห็นว่า สถาบันทำเรื่องดีๆ เช่นว่า ยกเลิก ม.112 เพื่อประชาชน เด็กๆเห็นว่าเออ สถาบันก็ดีนะ รับฟังเสียงประชาชน เขาก็อาจจะเปลี่ยนความคิด รักสถาบันขึ้นมาก็ได้ ใครจะไปรู้ จริงมั้ยครับ
อย่าบังคับใครให้รักใครเลยครับ เพราะถ้ามีเด็กมาบังคับเราให้ชอบไอดอลเกาหลี เราจะรู้สึกยังไงล่ะ ลองคิดดูครับ เช่นเดียวกับเราบังคับเด็กให้รักสถาบันนั่นแหละ มันบังคับกันไม่ได้ ยิ่งบังคับ อาจจะยิ่งเกลียดก็ได้นะ
ลองนึกย้อนกลับถึงความรู้สึกของตัวท่านเองดูครับ ว่า ม.112 มันเหมาะสมกับยุคสมัยนี้อยู่หรือไม่ หรือควรให้ลดทอนเหลือแค่กฎหมายหมิ่นประมาทแบบเดียวกับประชาชนทั่วไป เพื่อให้สถาบันดูดีขึ้น มากกว่าจะเป็นดั่งเทพเหนือเทพที่ใครก็ดูหมิ่นไม่ได้แบบเดิม
ขอบคุณครับ
ต.ต้น
15 มกราคม 2564